ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 1 ส.ค.2566
ดอกไม้บานเดือนนี้ “ตะแบกเกรียบ” พบได้ง่ายบริเวณใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
ดอกไม้บานเดือนนี้ “ตะแบกเกรียบ”
ตะแบกเกรียบ
𝘓𝘢𝘨𝘦𝘳𝘴𝘵𝘳𝘰𝘦𝘮𝘪𝘢 𝘤𝘰𝘤𝘩𝘪𝘯𝘤𝘩𝘪𝘯𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 Pierre
วงศ์ Lythraceae
เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่พรรณไม้สกุลตะแบก (Lagerstroemia) ที่พบในประเทศไทย หลายชนิดออกดอก เช่น ตะแบกนา ตะแบกทะเล ตะแบกเปลือกบาง ตะแบกนายเนย ชนิดที่ขึ้นเป็นผืนหรือกลุ่มขนาดใหญ่ ออกดอกพร้อมกัน สีสันโดดเด่น มองเห็นได้ในระยะไกล ๆ คือ ตะแบกเกรียบ บริเวณที่พบตะแบกเกรียบได้ง่ายและเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม เช่น 1) เขาตะเภา ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี 2) เขาพุคา ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี และ 3) ภูเขาสีม่วง อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด ตำบลไพศาลี อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนั้น ยังพบได้ง่ายบริเวณใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง (ใกล้ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อุทยานแห่งชาติภูพาน
ตะแบกเกรียบ เป็นไม้ต้น สูง 4–10 ม. บางครั้งสูงได้ถึง 30 ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน หลุดร่อนเป็นแผ่นทำให้เกิดรอยบุ๋ม ออกดอกตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง 30 ซม. ฐานของกลีบเลี้ยงไม่มีสัน มีขนสีสนิมปกคลุม กลีบดอกสีม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวก่อนร่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5–5.5 ซม. ผลรูปทรงรีแกมรูปทรงกลม ยาว 1.4–1.7 ซม. ฐานผลไม่มีสัน
ตะแบกเกรียบ ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง บนเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 50–1,000 ม. ในไทยพบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 1 ส.ค.2566
ข้อมูล: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อส.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น