ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 27 ก.พ.2566

'ไฟป่า' เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ 'หมอกควัน' และ 'PM2.5'


ไฟป่า นอกจากจะทำลายซึ่งแหล่งอาหารของคนและสัตว์ป่าแล้ว ยังมีอะไรมากกว่าที่เราคิด เพราะทุกครั้งที่เกิดไฟป่า จะมีผลกระทบที่ตามมาเสมอ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
              ไฟป่าเกิดจากอะไร? มักเป็นคำถามที่เกิดขึ้นตามมาเสมอเมื่อข่าวสารเกี่ยวกับความเสียหายในผืนป่าธรรมชาติเริ่มปรากฏในพื้นที่สื่ออีกครั้ง คำอธิบายเกี่ยวกับไฟป่าจาก ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หมายถึง ไฟที่เกิดขึ้นและลุกลามไปได้โดยอิสระ ปราศจากการควบคุม แล้วเผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติในป่า โดยมี 2 สาเหตุหลักในการเกิดไฟป่า คือ จาก ธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ ซึ่งจากรายงานการเก็บสถิติไฟป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 – 2542 มีสถิติไฟป่าทั้งสิ้น 73,630 ครั้ง พบว่า มีไฟป่าที่เกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น

ไฟป่าที่มีสาเหตุจากคนเรานั้นสามารถแยกออกเป็น 3 ลักษณะสำคัญ คือ
              1. หาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า

              2. เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ทั้งนี้โดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

              3. แกล้งจุด ทั้งในแง่ของความคึกคะนอง และในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกิน หรือข้อกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้

ไฟป่า หรือ ฤดูไฟป่า เกิดช่วงไหน และพื้นที่ใด?
              สาเหตุไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มักเกิดขึ้นบริเวณทางตอนบนของประเทศ เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเกิดในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธถึงต้นเดือนพฤษภาคม สําหรับภาคใต้มักได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย สาเหตุของการเกิดไฟป่าจะขึ้นกับสภาพอากาศและสสารที่เป็นเชื้อเพลิงโดยรอบพื้นที่นั้นๆ เป็นสําคัญ

              สำหรับ ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือนั้น สภาพพื้นที่ และวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. ระบุถึงสาเหตุที่ภาคเหนือต้องประสบปัญหาไฟป่าทุกปีเอาไว้ว่า ด้วยภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ ลักษณะของป่าแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่า การพัดพาของลมจะทำให้ไฟลุกติดได้ง่ายและไกลขึ้น และด้วยสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท ยิ่งทำให้ฝุ่นควันมีเพิ่มมากขึ้น

              ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่สูงในภาคเหนือส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่ หรือพืชบางชนิดอาจต้องใช้ไฟเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตหรือผลัดเปลี่ยน เช่น ช่วยให้ผักหวานแตกยอดหรือเห็ดเผาะเมื่อมีต้นไม้และหญ้าขึ้นคลุมผิวดินมากๆ จะไม่สามารถขึ้นได้และยากต่อการหา จึงทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อเผาป่าจะหาของป่าได้ง่ายขึ้น ปัญหานี้จึงอยู่คู่กับภาคเหนือมาตลอด บางครั้งไฟป่าอาจเกิดขึ้นเอง หรือจากน้ำมือมนุษย์ เพียงแค่ไฟเพียงจุดเดียว สามารถลุกลามไปเป็นหลายร้อยไร่ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

ไฟป่า กับปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5
              ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากตัวเลขค่ามลภาวะทางอากาศทั้งจากปัญหาหมอกควัน และค่าฝุ่น PM2.5 นั้นแปรผันตามกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ที่พื้นที่ สะเมิงในวันที่ 30 มีนาคม 2564 กับรายงานจุดความร้อน จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA พบว่า มีความเชื่อมโยงกัน คือ พื้นที่จุดความร้อนที่พบนั้นจะประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่เกษตรกร ป่าอนุรักษ์ เขต สปก. ชุมชน และอื่นๆ เป็นต้น

ไฟป่า และปัญหาโลกร้อน
              ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้กลายมาเป็นอีกวาระสำคัญที่ทั่วโลกพยายามกระตุ้นความตื่นรู้เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน รายงาน WWF & Boston Consulting Group: Fires, Forests, and the Future (2020) ถอดความโดย พลาย ภิรมย์ WWW - Thailand ระบุว่า ไฟป่า หมอกควัน และภัยแล้ง ล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าแล้งของทุกปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตลอดช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกๆ นาที โดยเฉลี่ย มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลได้ถูกโค่นทำลายไป สิ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นภาวะโลกร้อนให้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

              จนถึงตอนนี้ เราคงต้องไม่ลืมว่า การบรรลุข้อตกลงปารีส โดยทุกประเทศ ทุกภาคส่วน ร่วมกันแสดงเจตจำนงค์และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ดังนั้น เรื่องของไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นPM2.5 จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน


ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 27 ก.พ.2566
ข้อมูล: สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า อส.
ข้อมูล: กรุงเทพธุรกิจ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การตรวจสอบการควบคุมทั่วไปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วันที่ 10 - 12 มิถุนายน 2567

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 17 พ.ย.2566

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 7 ธ.ค.2566