ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 25 ก.พ.2566

เสียงเตือนจากป่า ตอน เสือโคร่ง สัตว์ป่านักล่า ผู้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์



เสียงเตือนจากป่า ตอน เสือโคร่ง สัตว์ป่านักล่า ผู้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์
                     เสือโคร่งในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทในการควบคุมประชากรของสัตว์ป่า และสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ เมื่อใดที่ผืนป่ามีจำนวนเสือโคร่งลดน้อยลง ก็เท่ากับว่าป่าเสียความสมดุล ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการขาดแคลนแหล่งอาหาร หรือการถูกล่า โดยเฉพาะจากน้ำมือของมนุษย์

                     การค้าและการล่าสัตว์ป่าเป็นภัยคุกคามระดับชาติ... มีทั้งล่าเพื่อสนองความสนุกของตัวเอง ล่าเพื่อเป็นอาหาร ล่าตามใบสั่งซื้อ หรือล่าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ธุรกิจการค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายเติบโตและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเสือโคร่งก็เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของพรานล่าสัตว์ และตลาดมืด

                     ที่ผ่านมานี้มีกระบวนการล่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าเกิดขึ้นทุกวัน เสือโคร่งถูกนำไปครอบครองโดยมนุษย์ที่มีความเชื่อว่าจะช่วยประดับบารมี ฐานะ และอำนาจของตัวเอง และชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งถูกนำไปส่งให้กับภัตตาคาร โดยนำกระดูกไปดองเหล้า หรือนำเนื้อไปประกอบอาหาร เป็นเมนูเปิบพิสดาร รวมถึงการนำ เขี้ยว, หนัง, ขน, เล็บ ไปเป็นเครื่องประดับ

                     ประเทศไทยได้มีการตรวจยึดลูกเสือโคร่งซึ่งเป็นของกลางจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ปัจจุบันลูกเสือเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลโดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า เพราะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองในธรรมชาติ ลูกเสือเหล่านี้นอกจากถูกพรากจากอ้อมอกแม่เสือ ยังถูกพรากสัญชาตญาณความเป็นสัตว์นักล่าผู้ยิ่งใหญ่ไป เป็นเช่นนี้แล้ว เสือที่ถูกดูแลอยู่เพียงในกรง จะกลับไปอยู่ป่า (บ้านเกิด) ของมันได้อย่างไร

                     เสือโคร่งเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ถูกบรรจุไว้ในบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์  (EN) ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN Red List)

                     การล่า การค้าตัว ซาก เสือโคร่งผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มีตัว หรือ ซากสัตว์เสือโคร่ง ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

เสือโคร่งมีไว้เพื่อรักษาสมดุลของผืนป่า มิใช่มีไว้ประดับบารมี หรือเพื่อสนองความเชื่อของมนุษย์... เราทุกคนสามารถเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อเรื่องราวการอนุรักษ์เสือโคร่งได้... 

ข้อมูลจาก : https://www.seub.or.th/bloging/into-the-wild/tiger-wildlife-trade/ https://wwf.panda.org/wwf_news/?184741/
ขอบคุณภาพ : Thailand Tiger Project

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 25 ก.พ.2566
ข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อส.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การตรวจสอบการควบคุมทั่วไปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วันที่ 10 - 12 มิถุนายน 2567

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 17 พ.ย.2566

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 7 ธ.ค.2566