ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 31 ม.ค.2566
หยุดล่า "ค่าง" เพื่อเป็นอาหาร=หยุดสูญเสีย=หยุดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ยิ่งเราบริโภคสัตว์ป่ามากเท่าไหร่...เราก็สูญเสียสัตว์ป่าจำนวนมากไปเช่นกัน
จากกรณีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเข้าจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ป่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในที่เกิดเหตุพบค่างถูกนำไปแปรรูปเป็น “ส้มค่าง” น้ำหนักรวมประมาณ 60 กิโลกรัม คาดว่าจะใช้ค่างมาทำไม่น้อยกว่า 15 ตัว
ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบค่างถึง 9 ชนิด ปัจจุบันในทางกฎหมายมีค่าง 4 ชนิดที่มีสถานะ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (ฉ.2 พ.ศ.2546) ได้แก่ ค่างดํา ค่างแว่นถิ่นใต้ ค่างแว่นถิ่นเหนือ และค่างหงอก และเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 และรอประกาศค่างตะนาวศรีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มอีก 1 ชนิด ส่วนอีก 4 ชนิด อยู่ระหว่างประกาศเพิ่มเติม
สำหรับการรับประทานเนื้อค่างหรือสัตว์ป่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เนื่องจากในเนื้อค่างหรือเนื้อสัตว์ป่ามีเชื้อโรคต่าง ๆ มากมาย และในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าด้วย
ที่สำคัญ ยิ่งเราบริโภคสัตว์ป่ามากเท่าไหร่...เราก็สูญเสียสัตว์ป่าจำนวนมากไปเช่นกัน
* ชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครอง ดูที่ [https://bit.ly/3fX0eCS] ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปแล้ว แต่สำหรับชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง ยังอิงตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2546 เช่นเดิม และรอประกาศกฎกระทรวง กำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง ฉบับใหม่
* ชนิดของสัตว์ป่าในบัญชีไซเตส ดูที่ [https://bit.ly/3kKRCTL]
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 31 ม.ค.2566
ข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand
ที่มา : TROPICAL POCKET GUIDE SERIES : Primates of Thailand และกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น