ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 28 ม.ค.2566
“นกเอี้ยง (ไม่ได้)เลี้ยงควายเฒ่า” ด้วยว่าคนไทยชินตากับภาพที่ไม่ว่าควายจะเดินไปทางไหน ก็มักจะมีนกเอี้ยงเกาะอยู่บนหลังควายตลอดเวลา
นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า เป็นคำกล่าวในลักษณะภาษิต ซึ่งมักจะหมายถึงการเกาะเกี่ยวเก็บผลประโยชน์บนการทำงานของผู้อื่น ด้วยว่าคนไทยชินตากับภาพที่ไม่ว่าควายจะเดินไปทางไหน ก็มักจะมีนกเอี้ยงเกาะอยู่บนหลังควายตลอดเวลา และเมื่อควายเดินผ่านพงหญ้าฝูงแมลงตัวเล็กตัวน้อยก็จะบินแตกพรูขึ้นมาเกาะบนตัวควาย นกเอี้ยงที่เกาะอยู่บนหลังควายก็จะคอยจิกกินแมลงโดยไม่ต้องออกแรงบินไปหาเหยื่อจากที่อื่น
แต่ในความเป็นจริงการที่นกเอี้ยงเกาะอยู่บนหลังควายนั้น ถือว่าเป็นหุ้นส่วนที่ผลประโยชน์สมกันอย่างลงตัว เพราะนกเอี้ยงจะคอยช่วยจิกกินตัวแมลงเล็กๆ ที่คอยบินมาตอมตามลูกนัยน์ตาของควาย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ควายเป็นโรคตาแดงตาช้ำ แถมการจิกกินแมลงที่เกาะตามผิวหนังของควาย ยังช่วยให้ควายมีผิวหนังดำขลับสวยงาม ไร้รอยตำหนิแผลเป็นจากการชอนไชของแมลง และเป็นการช่วยเกาแก้คันให้ควายไปในตัวด้วย
ซึ่งเราจะเรียกความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศระหว่าง “นกเอี้ยง” กับ “ควาย” ว่า ความสัมพันธ์แบบ “ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน” (Protocooperation +,+) เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อยู่ร่วมกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แม้แยกกันอยู่ก็สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ รู้แบบนี้แล้วอย่าเข้าใจนกเอี้ยงกันแบบผิดๆอีกเลยน่ะ เพราะนกเอี้ยงถือว่าสร้างประโยชน์ให้กับควายได้ไม่น้อยเลย เรียกได้ว่า win-win กันทั้งคู่
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 28 ม.ค.2566ข้อมูล: สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ
เครดิตภาพ : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น