ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 23 ม.ค.2566
ดอกไม้บานเดือนนี้ “ก่วมแดง” หรือเมเปิ้ล มีรูปร่างคล้ายรอยตีนของไดโนเสาร์ เปลี่ยนสีเป็นสีแดงทั่วทั้งป่า พบมากที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ดอกไม้บานเดือนนี้ “ก่วมแดง”
𝘈𝘤𝘦𝘳 𝘤𝘢𝘭𝘤𝘢𝘳𝘢𝘵𝘶𝘮 Gagnep.
วงศ์ : Sapindaceae
ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ถ้าขึ้นไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (บริเวณโรงเรียนการเมืองการทหารหรือทางเข้าน้ำตกหมันแดง) หรือขึ้นไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง (บริเวณโคกนกกระบา) จะพบใบของก่วมแดงหรือเมเปิ้ล ที่มีรูปร่างคล้ายรอยตีนของไดโนเสาร์ เปลี่ยนสีเป็นสีแดงทั่วทั้งป่า จากนั้นไม่นานก็จะผลัดใบ แล้วผลิใบอ่อนพร้อมแทงช่อดอก
ก่วมแดง ชอบขึ้นตามป่าดิบเขาต่ำ ป่าละเมาะเขาต่ำ ที่ระดับความสูง 1,150–1,700 ม. พบทางภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดเลย ในต่างประเทศพบที่อัสสัม เทือกเขาหิมาลัย จีนตอนใต้ เมียนมา ลาว เวียดนาม จัดเป็นพรรณไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species: EN) ตามเกณฑ์ของ IUCN
ก่วมแดง เดิมอยู่วงศ์ก่วม (Aceraceae) ต่อมาถูกย้ายไปอยู่วงศ์เงาะ (Sapindaceae) เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบเดี่ยว รูปผ่ามือ มี 3 แฉก (พบน้อยที่เป็น 5 แฉก) ใบเปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนร่วง ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 2.5–8 ซม. กลีบดอกสีขาว ก้านดอกย่อยและอับเรณูสีแดง กลีบเลี้ยงสีแดงอมม่วง ผลแบบผลปีกเดียว ส่วนมากมักติดเป็นคู่
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 23 ม.ค.2566
ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อส.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น