ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 21 ม.ค.2566
"เทียนไตรบุญ" เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนเขาหินปูน
เทียนไตรบุญ 𝘐𝘮𝘱𝘢𝘵𝘪𝘦𝘯𝘴 𝘵𝘳𝘪𝘣𝘰𝘶𝘯𝘪𝘪 T.Shimizu & Suksathan
วงศ์ Balsaminaceae
เทียนไตรบุญ ได้รับการตีพิมพ์เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Bulletin of the National Science Museum, Tokyo Series B, Botany เล่มที่ 30(4) หน้า 165 ค.ศ. 2004 โดย ดร. Tatemi Shimizu นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ประจำสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข Impatiens tribounii เก็บจากป่าในท้องที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2544 คำระบุชนิด “𝘵𝘳𝘪𝘣𝘰𝘶𝘯𝘪𝘪” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ อดีตนักพฤกษศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ (BK) ผู้ร่วมสำรวจและศึกษาพรรณไม้วงศ์เทียน
ไม้ล้มลุก สูง 30-80 ซม. ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรูปไข่แกมรูปรี กว้างได้ถึง 10.2 ซม. ยาวได้ถึง 20 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มถึงรูปแหลม ขอบหยักมนถี่ถึงค่อนข้างจักฟันเลื่อย ก้านใบยาวได้ถึง 20 ช่อดอกแบบช่อกระจะเกือบออกด้านเดียว ตั้งตรง มี 10-20 ดอก ออกใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 26 ซม.ดอกสีเหลืองสด กว้างประมาณ 1.2 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 5-12 มม. กลีบเลี้ยงกลีบข้าง 2 กลีบ สีเหลือง รูปไข่เบี้ยวถึงรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 4.5-6 มม. ยาว 6-10 มม. กลีบเลี้ยงล่างรูปกระพุ้งแก้ม สีเหลือง ด้านในมีประสีส้มอมแดง เดือยรูปกึ่งกลม กลีบดอกกลีบกลางรูปขอบขนานแกมรูปรี สีเหลือง กว้าง 6-7 มม. ยาว 8.5-10 มม. กลีบปีกแฉกลึก เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 6 มม. อับเรณูสีเหลือง ผลรูปทรงคล้ายกระบอง ยาว 1.5-2.2 ซม. เมล็ดรูปทรงหัวใจ ยาวประมาฯ 4 มม. มีไขเหนียว สีน้ำตาลปกคลุม
เทียนไตรบุญ เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนเขาหินปูน ที่ระดับความสูงประมาณ 300 ม.
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 21 ม.ค.2566
ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อส.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น