ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 25 ก.ย.2565
'กล้วยป่า' พรรณไม้เกียรติประวัติไทย พบได้ทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตั้งเป็นพรรณไม้ชนิดย่อยใหม่ของโลกครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1957
กล้วยป่า
𝘔𝘶𝘴𝘢 𝘢𝘤𝘶𝘮𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢 𝘊𝘰𝘭𝘭𝘢 subsp. 𝘴𝘪𝘢𝘮𝘦𝘢 N.W.Simmonds
วงศ์ Musaceae
พรรณไม้ชนิดนี้ ดร. Norman Willison Simmonds นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ตั้งเป็นพรรณไม้ชนิดย่อย (subspecies) ใหม่ของโลก ตีพิมพ์ลงในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 11(3) หน้า 466 ค.ศ. 1957 ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข 𝘐𝘊𝘛𝘈 𝘪𝘯𝘵𝘳𝘰𝘥𝘶𝘤𝘵𝘪𝘰𝘯 𝘯𝘰. 403, 𝘚𝘪𝘮𝘮𝘰𝘯𝘥𝘴 18834 เก็บจากต้นที่นำเมล็ดไปปลูกที่ทรินิแดด (Trinidad) คาดว่าจะนำเมล็ดไปจากประเทศไทย แต่ข้อมูลไม่ชัดเจน โดยในใบบันทึกข้อมูล (label) ระบุว่า “locality unspecified, intro 403, now maintained as the clone Siam” คำระบุชนิด “𝘴𝘪𝘢𝘮𝘦𝘢” ตั้งตามชื่อประเทศสยาม ชื่อเดิมของประเทศไทย สถานที่ที่คาดว่าจะเป็นที่เก็บเมล็ดจากป่าไปปลูกที่ทรินิแดด
ไม้ล้มลุก แตกหน่อเป็นกอ ทุกส่วนมียาง ลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 ม. ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน กว้าง 50-70 ซม. ยาว 190-230 ซม. ปลายและโคนมน ขอบเรียบ ก้านใบยาว 50-100 ซม. ปลีออกตามปลายลำต้นเทียม ส่วนปลายของปลีมีสีเหลือง กาบปลีรูปไข่ ปลายแหลม ด้านบนสีม่วงอมแดง มีนวล ด้านล่างที่โคนสีแดงซีด กลีบรวม 6 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 เกสร อับเรณูสีขาวนวลหรือสีขาวอมแดง เกสรเพศเมียสีขาวหรือสีนวล ช่อผลเรียกเครือ ยาวประมาณ 1.2 ม. ผลแบบผลมีเนื้อ รูปทรงกระบอก โค้งขึ้นเล็กน้อย ยาวประมาณ 9 ซม. ผลอ่อนมี 5 เหลี่ยม เมื่อสุกสีเหลือง เมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผนังหนาแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มม. กล้วยป่าชนิดย่อยนี้ พบทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 25 ก.ย.2565
ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อส.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น