ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 1 ก.ย.2565

บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ สืบ นาคะเสถียร แสดงความมุ่งมั่นและแนวคิดในการช่วยเหลือสัตว์ป่าของฮีโร่นักอนุรักษ์ทรัพยากรผู้ยิ่งใหญ่

                 บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ สืบ นาคะเสถียรที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสารสารคดีเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานและทัศนะต่อปัญหาการสร้างเขื่อนแก่งกรุง ตลอดจนปัญหาการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา

                 สารคดี : เท่าที่มองแล้ว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถ้าตรงนี้มันค่อยๆ ถูกทำลายไป มันจะเป็นไปได้ไหมที่ความแห้งแล้งจะเข้ามา

                 สืบ : มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แม้ว่าส่วนของป่าที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่จะยังคงเป็นป่าธรรมชาติอยู่ ยังสามารถทำให้เกิดความสมดุลในแง่ของการควบคุมปริมาณน้ำฝน ปริมาณความชื้นอะไรต่างๆ ทางภาคใต้อาจจะมีปริมาณฝนตกมากเหมือนเดิม แต่การที่ฝนตกลงมาโดยที่ป่าไม้ถูกทำลายไป น้ำที่ตกลงมาก็จะไม่มีป่าไม้ที่จะรองรับโอบอุ้มน้ำไว้ น้ำจะไหลลงมาหมด ไม่มีตัวที่จะคอยซับความชุ่มชื้นแล้วค่อยทยอยปล่อยออกมาได้ตลอดทั้งปีเหมือนที่เคย เราก็อาจจะได้รับความแห้งแล้งในฤดูที่ไม่มีฝน ถึงแม้ว่าภาคใต้จะเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์สักเท่าไรก็ตาม

                 อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อน้ำฝนตกลงมาเท่าเดิม แต่ว่าเขื่อนที่จะกักเก็บน้ำไว้จะเก็บน้ำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องปล่อยลงทะเลไป หลังจากนั้นก็จะไม่มีน้ำสำรองให้อีก น้ำที่กักเก็บได้คือน้ำที่ต้องใช้ไปตลอดทั้งปี

                 ในแง่ของสัตว์ป่า ผมคิดว่าการสร้างเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทำให้เกิดการตัดขาดของประชากร เพราะเมื่อก่อนเคยเชื่อมกันด้วยคลอง หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วสัตว์จะข้ามไปมาไม่ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปใช้อ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวบีบไม่ให้สัตว์ ออกมา แล้วมันก็ออกไปไหนไม่ได้ มันจะออกนอกเหนือจากป่าที่อยู่ก็ไม่ได้ เพราะว่าข้างนอกเป็นถิ่นที่มีราษฎรอยู่ ฉะนั้นมันจะถูกจำกัดให้มีประชากรลดลงตามขนาดของพื้นที่ที่ลดมา มีผลมากในแง่การดำรงเผ่าพันธุ์ และอาจทำใคห้กลุ่มประชากรที่เหลืออ่อนแอ โอกาสที่จะสูญพันธุ์จากโรคระบาดหรือการลดของประชากรอย่างทันทีทันใดก็มีมากขึ้น

                  อย่างกรณีป่าถูกทำลาย ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลายประชากรของสัตว์ได้ลดจำนวนลง ถึงขนาดที่บางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเราไม่สามารถรักษาป่าดั้งเดิมตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นๆ ไว้ได้  ในแง่ของการอนุรักษ์ คือ การที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้นจะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมชาติให้มันปรับตัวแล้วเพิ่มประชากร โดยตัวของมันเองได้นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะสูญพันธุ์ก็ง่ายขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  ชีวิตและความตายของสืบ นาคะเสถียร – นิตยสารสารคดี ฉบับ 68 ปีที่ 6 เดือนตุลาคม พ.ศ.2533 https://issuu.com/sarakadeepress/docs/skd-v068-10-2533

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 1 ก.ย.2565
ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand
เผยแพร่ : เพจเฟสบุ้คประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติฯ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การตรวจสอบการควบคุมทั่วไปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วันที่ 10 - 12 มิถุนายน 2567

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 17 พ.ย.2566

ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - 7 ธ.ค.2566